อุปกรณ์สำหรับนักเล่นเครื่องบินพลังยางในร่มระดับแข่งขันระดับชาตินั้นจะต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่าทอร์คมีเตอร์นี้ไว้ใช้ มันคืออะไร เอาไว้ทำอะไรได้บ้างก็ติดตามอ่านต่อไป แต่ขอบอกก่อนว่าบทความนี้เอามาจากการอ่านอย่างเดียว ตัวเองนั้นไม่มีประสบการณ์จริงกับการใช้ทอร์คมีเตอร์แต่อย่างใด อุปกรณ์นี้ใช้วัดแรงบิดหรือกำลังของยางโดยหลักการง่ายๆคือถ้าเราเอายางเครื่องบินพลังยางไปเกี่ยวไว้กับลวดเส้นเล็กๆแล้วหมุนยางที่อีกด้านหนึ่ง เมื่อหมุนไปมากเข้าแรงบิดของยางด้านที่เกี่ยวกับลวดมันก็จะทำให้ลวดบิดไปด้วย ถ้าเราเอาเข็มชี้ไปติดไว้กับลวดนี้เราก็จะเห็นว่ามันบิดไปมากหรือน้อยเท่าใดเมื่อหมุนยางไปในจำนวนรอบที่ต้องการ ![]() จากในรูปประกอบถ้าหน้าปัทม์กลมๆนี่มีเลขกำกับจาก 0 ถึง 9 ( ซึ่งไม่จำเป็นต้องรู้ว่า 1 นั้นน่ะความแรงเท่าไหร่ ตัวเลขเหล่านี้มีเพื่ออ้างอิงให้สามารถหมุนยางจนแรงบิดเท่าของเดิมเท่านั้น) ถ้าเราหมุนยางขนาดหนึ่งจนขาดที่ 1000 รอบ และตอนที่ขาดเข็มไปชี้ที่เลข 6 เราก็จะบันทึกข้อมูลนี้ไว้ พอหมุนยางเส้นใหม่เราก็คงหมุนน้อยกว่าที่เคยขาด สมมุติว่าหมุนไป 900 รอบและเข็มชี้อยู่ที่เลข 5 เอายางนี้ไปใส่เครื่องบินและทดลองดูว่าบินได้นานเท่าใดและขึ้นไปสูงเท่าไหร่แล้วเมื่อเครื่องบินลงถึงพื้นมีรอบยางเหลือเยอะเท่าไหร่หรือหมดรอบกลางอากาศ ถ้ารอบเหลือแสดงว่ายางยาวเกินไปหรือแรงน้อยไปก็ตัดให้สั้นลงหรือเพิ่มขนาดยางอีกเล็กน้อยโดยอาศัยอุปกรณ์ซอยยาง ถ้ารอบหมดกลางอากาศแสดงว่ายางสั้นไปหรือแรงมากเกินไป ก็ต้องแก้ไขในทางกลับกัน ทอร์คมีเตอร์บางชนิดก็มีการดัดแปลงติดแผงอีเลคโทรนิคของเครื่องชั่งดิจิตัลเข้าไปเพื่อจะได้ดูแรงบิดเป็นตัวเลขที่อ่านได้ง่ายขึ้น สำหรับแรงบิดตามตัวอย่างคือ 5 นั้น เราใช้ประโยชน์คือเมื่อเปลี่ยนยางไม่ว่าจะเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น เมื่อหมุนยางให้ได้แรงบิด 5 ยางที่ใส่ก็จะดึงเครื่องบินขึ้นไปที่ความสูงเท่าๆกันเสมอ เราก็จะสามารถปรับความสูงที่ต้องการไม่ให้บินขึ้นไปสูงจนชนเพดาน แต่หากหมุนถึง 5 แล้วยังมีระยะห่างจากเพดานมากเราก็อาจหมุนยางจนได้แรงบิดที่ 7 หรือ 8 ก็ได้แต่ก็ต้องดูจำนวนรอบที่จะหมุนได้โดยยางไม่ขาดด้วย ผู้แข่งขันเขาจะพยายามหาแรงบิดที่เหมาะสมกับความสูงของเพดานของสถานที่แข่งขันและหาขนาดยางที่สามารถหมุนรอบได้มากที่สุดสำหรับแรงบิดที่ต้องการ ในการแข่งขันของบ้านเราที่ใช้ยางวงนั้น ทอร์คมิเตอร์จะช่วยได้ในการเลือกยี่ห้อยางว่ายี่ห้อไหนให้แรงบิดดีกว่ากันและช่วยในการกำหนดว่าจะใช้แรงบิดเท่าใดจึงจะไม่ขึ้นไปชนเพดานเท่านั้น |
ลองมาดูกันว่าการทำทอร์คมิเตอร์นี้มันจะยากลำบากมากมายแค่ไหน
แรกเลยก็ต้องหาข้อมูลจากผู้ที่เขาเคยทำมาแล้วว่าควรจะใช้ลวดขนาดไหน ยาวเท่าไหร่โดยพิจารณาดูความต้องการใช้งาน ทอร์คมิเตอร์ที่จะทำนี้ตั้งใจจะใช้สำหรับยางที่มีขนาดไม่เกิน 3/32″ ก็พอได้ข้อมูลว่าลวดที่ใช้ควรมีขนาด 0.020″ – 0.025″ เนื่องจากมีลวดขนาด 0.020″ เหลืออยู่เลยจัดการเอามาทำ ก่อนอื่นก็ต้องมีการออกแบบทางวิศวกรรมขึ้นมาซึ่งเรียกให้มันดูเป็นทางการ จริงๆก็แค่เขียนแบบคร่าวๆเท่านั้นแหละ
ลวด 0.031″ ที่ใช้ยาวประมาณ 4 นิ้ว และขนาด 0.020″ ยาวประมาณ 8-9 นิ้ว
ขั้นแรกต้องต่อลวดทั้งสองขนาดเข้าด้วยกัน โดยต้องทำห่วงเกี่ยวที่ปลายลวดทั้งสอง จากนั้นก็ต้องเอามาบัดกรีต่อกันโดยพยายามให้ลวดทั้งสองต่อกันให้ตรงที่สุด
หลังจากพยายามบัดกรีอยู่หลายเที่ยวก็ไม่สำเร็จเลยใช้วิธีใช้คีมบีบให้แน่นติดกันแล้วค่อยมาบัดกรีอีกทีหลัง
วันนี้ได้อุปกรณ์และชิ้นส่วนเพิ่มเติม แผ่นกลมๆที่เห็นคือหน้าปัทม์ ลืมบอกผู้ที่ช่วยทำให้ว่าต้องมีตัวเลขกำกับด้วย เดี๋ยวคงต้องเขียนเพิ่มเข้าไป ส่วนเหล็กยาวๆนั้นไปซื้อจากร้านขายวัสดุก่อสร้าง เรียกชื่อไม่ถูก บอกคนขายว่าต้องการเหล็กแบนๆเล็กๆมีรูเจาะไว้ไม่รู้เขาเรียกว่าอะไร คนขายบอกว่าเขาเรียก “เหล็กรู”ซื้อมาสองอันแต่จริงๆจะใช้แค่อันเดียว
อีกรูปเป็นชิ้นส่วนทั้งหมด เหล็กรูก็จะงอหัวท้ายเพื่อติดแผ่นหน้าปัทม์ด้านนึง อีกด้านไว้ยึดปลายลวด 0.020″ ชิ้นส่วนเล็กๆขาวๆนั่นเป็นดุมใบพัด จะเอาไว้สำหรับแกนลวดด้านที่ใช้เกี่ยวยาง
เมื่ออุปกรณ์ครบแล้วก็ลงมือโดยดัดหัวท้ายของเหล็กรูขึ้นให้เป็นมุมฉากกัน การดัดนี้ถ้ามีการใช้ปากกาจับเหล็กรูไว้แล้วใช้ฆ้อนทุบด้านปลายให้งอลง ผลงานจะดูดีกว่าที่ทำนี่ ติดแผ่นไม้หน้าปัทม์โดยใช้กาวอีป๊อกซี่ชนิดแห้งเร็ว จากนั้นก็ใส่ลวดที่ต่อกันไว้เข้าในรูด้านหน้า
สำหรับปลายเหล็กรูด้านหลังนั้น ผมใช้เลื่อยตัดเหล็กบากเป็นช่องเล็กๆสำหรับให้ลวด 0.020″ ลงไปได้มันจะได้ไม่เลื่อนหลุดง่าย งอปลายลวดให้ยึดกับเหล็กรูด้านท้ายให้แน่น สุดท้ายก็คือดัดปลายลวดด้านหน้าเป็นขอเพื่อใช้เกี่ยวยาง
เมื่อใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทอร์คมิเตอร์ก็จะมีหน้าตาแบบในรูป ยังขาดอยู่ก็คือเข็มชี้เพื่อแสดงแรงบิดของยางและไม้รองที่ฐานเพื่อจะได้ยึดทอร์คมิเตอร์นี้ไว้กับพื้นเวลาใช้งาน
เข็มชี้เพื่อแสดงแรงบิดนั้นก็ทำง่ายๆคือเอาลวด 0.031″ สั้นๆมางอ 90 องศาแล้วใช้ลวดทองแดงเล็กๆที่แกะออกมาจากสายไฟพันเสียก่อนจากนั้นก็บัดกรีเข้ากับแกนลวดที่เกี่ยวยางโดยให้ตำแหน่งชี้ที่เลข 0 บนหน้าปัทม์
ในการใช้งานก็ต้องยึดเครื่องมือนี้ไว้กับโต๊ะก่อนจะหมุนยาง เข็มที่ติดไว้ก็จะเคลื่อนที่ไปตามความแรงและรอบของยาง เราก็ต้องทดลองหาแรงบิดและรอบที่เหมาะสมกับความต้องการของเราต่อไป
สำหรับการที่จะทำทอร์คมิเตอร์เพื่อใช้วัดแรงบิดของยางรัดของที่มีความแรงมากกว่ายางเฉพาะนั้น อาจใช้ลวด 0.031″เส้นเดียวไปเลยมาทำก็น่าจะได้