เห็นสมาชิกเอาเครื่องบินแบบใหม่ๆมาลงให้ดูกันหลายแบบ ส่วนใหญ่ก็เพื่อช่วยผู้เข้าแข่งขันตามกติกาของ สพฐ. จะได้เกิดไอเดียว่าจะใช้วัสดุอะไรมาทำกันเพราะเขาห้ามใช้ไม้บัลซ่า
แต่ด้วยเครื่องบินที่ผมทำๆอยู่นั้นจะใช้ไม้บัลซ่า บุด้วยกระดาษ ไม่ถนัดกับวัสดุประเภทอื่นๆก็เลยคิดว่าจะทำเครื่องบินแบบง่ายๆที่เรียกประเภท A-6 มาแจมดูบ้าง เลือกเอาแบบที่มาจากสวีเดนเพราะชอบรูปร่างที่แปลกไปไม่เป็นสี่เหลี่ยมเหมือนแบบอื่น กางปีกประมาณ 14 นิ้ว เครื่องบินประเภท A-6 มีกติกาคร่าวๆว่าพื้นที่ปีกไม่เกิน 30 ตารางนิ้ว ให้ใช้ไม้บัลซ่าเท่านั้นในการสร้าง ยกเว้นเฉพาะลวดแกนใบพัด (ต้องไม่เล็กกว่า 0.032”) บุด้วยกระดาษเท่านั้นห้ามใช้วัสดุพวกฟิล์ม ตัวใบพัดต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 6 นิ้ว และลำตัวช่วงที่ใส่ยางนั้นก็ยาวได้ไม่เกิน 6 นิ้วเช่นกัน น้ำหนักที่ไม่รวมยางต้องไม่ต่ำกว่า 1.2 กรัม ไม้ที่ใช้ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 1/16” ยกเว้นให้เฉพาะใบพัดกับเอ็นปีกที่ใช้ขนาดต่ำสุดได้ถึง 1/32”
การสร้างนั้นหากเคยมีประสบการณ์มาบ้างแล้วก็จะไม่ยากในการทำ แม้คำอธิบายจะเป็นภาษาสวีดิชก็ตามแต่ก็มีการระบุขนาดไว้เป็น มม. ไม้ที่ใช้ก็ไม่ได้เลือกชนิดที่ใช้ทำเครื่องบินในร่มแต่เป็นไม้ที่ซื้อจากร้านเครื่องเขียนทั่วไปโดยเลือกดูจากสีไม้ที่สีอ่อนหน่อยซึ่งน้ำหนักจะเบากว่าไม้ที่สีเข้ม
ชายหน้าและชายหลังปีกรวมทั้งที่แพนหางเป็นไม้ขนาด 1/16” x 1/16” ทั้งหมดยกเว้นเอ็นปีกที่ใช้ไม้หนา 1/20” ตัดให้มีความลึก 1/16” ตามกติกา
ก่อนลงมือทำก็ต้องเอาเทปใสมาติดตรงบริเวณที่จะต้องทากาวเพื่อกันชิ้นส่วนติดกับแบบแปลน (เดิมใช้เทียนไขมาถูเอา แต่ได้ไอเดียนี้มาจากคุณ TOM เลยติดใจเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้) กาวที่ใช้เป็นกาวช้างเพื่อประหยัดเวลา กาวนั้นขอให้ใช้แต่น้อยเพื่อความประหยัดและไม่เพิ่มน้ำหนักมากด้วย ถ้าไม่มีท่อสวมปลายหลอดกาวแบบในรูปนี้ แนะนำให้ใช้ไม้แหลมๆแตะกาวไปทา อย่าใช้ปลายหลอดกาวบีบใส่เพราะมันจะควบคุมปริมาณกาวได้ยาก
SAM_1548_resize.JPG
เอ็นปีกและที่หางใช้วิธี Sliced ribs โดยทำแบบ Template จากไม้หรืออลูมิเนียมบางๆแล้วมาซอยเอา เมื่อติดกาวที่ปีกเรียบร้อยก็ทำมุมยกเข้าตามแบบ ที่ปลายปีกซ้ายนั้น ชายหลังจะต่ำกว่าชายหน้าอยู่ 1/16” ซึ่งเรียกว่าเป็นการทำ Wash-in เพื่อให้ปีกซ้ายมีแรงยกมากกว่าปีกขวา เมื่อเครื่องเลี้ยวไปทางซ้ายปีกด้านนั้นจะได้ไม่เอียงลงมากเกินไป
SAM_1519_resize.JPG SAM_1520_resize.JPG
ชุดรองลื่นก็ใช้ไม้รองติดเข้าไปก่อนจะติดท่ออลูมิเนียมขนาด 1/16” สั้นๆ ในส่วนของตัวใบพัดเองเป็นไม้หนา 1/32” แกนใบพัดเป็นไม้ขนาด 1/8” x 1/8” ยาวประมาณ 3 นิ้ว เจาะรูเป็นแนวทะแยงเพื่อใส่ลวดแกนใบพัด รูปแบบของใบพัดนั้นไม่เหมือนที่กำหนดไว้ในแบบเพราะเห็นว่าแบบที่เลือกทำได้ง่ายกว่า
SAM_1540_resize.JPG
ไม้ลำตัวหนา 2.0 มม. กว้าง 0.5 มม.และยาว 15 ซม. เลือกไม้ที่แข็งหน่อยแต่ไม่ต้องให้แข็งแรงมากมายเนื่องจากยางที่ใช้เส้นเล็กนิดเดียวมีแรงดึงไม่มากแต่หมุนรอบได้เยอะ ติดตั้งลวดเกี่ยวยางที่หางและไม้ส่วนหางตามแบบ พอถึงตอนนี้แล้วก็ทดลองชั่งน้ำหนักดูได้ถึง 1.28 กรัมแสดงว่าไม่ผิดกติกาแน่ๆ
SAM_1542_resize.JPG
จากนั้นก็ทำการบุกระดาษปีก แพนหางดิ่งและแพนหางระดับให้เรียบร้อย ติดตั้งแพนหางระดับโดยให้ปลายด้านซ้ายสูงกว่าด้านขวาประมาณ 0.5 ซม.ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องบินเลี้ยวไปทางซ้ายซึ่งเป็นวิธีที่เขาใช้กันทั่วไปในการปรับเลี้ยวของเครื่องบินประเภทนี้
SAM_1543_resize.JPG
ทำท่อกระดาษติดที่ข้างลำตัวเพื่อรับเสาปีกที่ตอนปลายขัดให้กลมเพื่อเสียบลงในท่อกระดาษได้พอดี การติดตั้งแบบนี้ทำให้สามารถปรับมุมปะทะที่ปีกได้โดยง่าย
หาดูว่าจุด CG อยู่ตามที่กำหนดในแบบหรือไม่ จากนั้นก็ชั่งน้ำหนักดูอีกทีโดยยังไม่ใส่ยาง ได้ถึง 2.33 กรัมซึ่งมากไปหน่อย จะหาเวลาไปทดลองบินโดยยางขนาดเล็กๆต่อไป
เครื่องที่เสร็จแล้วหน้าตาเป็นแบบนี้ครับ
SAM_1545_resize.JPG SAM_1547_resize.jpg SAM_1546_resize.JPG
หลังจากนี้ก็จะต้องทำอีกลำนึงโดยพยายามเลือกไม้ให้เบากว่านี้เพื่อว่าจะได้เอามาแข่งขันกันสนุกๆได้ครับ