ประสบการณ์ในการเล่นเครื่องบินเล็ก : ที่มาเขียนเรื่องประสบการณ์ของตนเองก็เนื่องจากได้รับคำแนะนำว่าน่าจะลองเขียนเพื่อให้ผู้ที่สนใจทราบว่าเครื่องบินใช้ยางในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผมนั้นเป็นมาอย่างไรอาจเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ ผมจึงลองเสนอให้อ่านกันในคราวนี้ ชอบหรือไม่ชอบก็ขอให้ช่วยบอกกันบ้าง ในสมัยที่ผมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาตอนปลายเป็นช่วงที่ประเทศค่ายตะวันตกอันมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวโจกกำลังแข่งขันกับสหภาพโซเวียตรัสเซียในด้านการทหารและด้านอวกาศ ต่างฝ่ายต่างทำการทดลองค้นคว้าอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเอาใว้ขู่อีกฝ่ายหนึ่ง เครื่องบินแบบใหม่ๆ ถูกผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียงก็เกิดขึ้นในตอนนี้เช่นกัน ในประเทศไทยก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธที่ทันสมัยเหล่านี้มาพิมพ์ลงในนิตยสารต่างๆ ที่จำได้แม่นยำก็คือนิตยสารช่างอากาศ ในนิตยสารนี้นอกจากจะมีเรื่องของเครื่องบินจริงๆแล้วก็ยังมีบทความและแบบแปลนของเครื่องบินเล็กอีกด้วย ซึ่งมีทั้งเครื่องร่อนพุ่งด้วยมือ เครื่องบินใช้ยาง เครื่องบินใช้สายบังคับ เป็นต้น นอกจากนั้นทุกๆปี กรมช่างอากาศก็จะจัดการแข่งขันเครื่องบินเล็กขึ้นโดยจัดครั้งละ 2 วัน วันแรกเป็นการแข่งขันเครื่องบินประเภทบินอิสระเช่นเครื่องร่อนชนิดใช้สายลาก [Tow-line glider] เครื่องบินใช้ยางลำตัวเป็นไม้ท่อนเดียวและลำตัวเป็นโครง [Rubber-powered, stick and build-up] เครื่องบินใช้เครื่องยนต์บินอิสระ [Free-flight, glow-engine powered] สถานที่แข่งขันคือบริเวณตลาดหมอชิต ตรงข้ามกรมการขนส่งทางบก ส่วนในวันที่สองเป็นการแข่งขันเครื่องบินประเภทใช้สายบังคับเช่นการบินผาดแผลง [Aerobatics] การบินต่อสู้กัน [Pursuit] และ ประเภทจำลอง [Scale] ซึ่งสถานที่ในการแข่งขันคือสนามกีฬาแห่งชาติหรือสนามศุภชลาศัยนั่นเอง สำหรับของเด็กเล่นที่เกี่ยวกับการบินก็มีผู้นำเครื่องร่อนพุ่งด้วยมือกางปีกประมาณ 10 นิ้วเข้ามาขาย เครื่องร่อนนี้ทำด้วยกระดาษแข็ง บรรจุในซอง ผู้ซื้อต้องเอาปีกและหางเสียบเข้าไปในช่องที่ทำใว้ให้ เสร็จแล้วก็เอาไปพุ่งเล่นได้ ที่ตลาดนัดท้องสนามหลวงก็มีผู้ทำเครื่องบินใช้ยางกางปีกประมาณ 12 นิ้วมาขาย ลำตัวและใบพัดทำจากไม้ฉำฉา โครงปีกและหางทำด้วยไม้ไผ่ บุด้วยกระดาษว่าว ส่วนร้านขายของเล่นที่มีชื่อที่สุดในตอนนั้นก็คือห้างอมรซึ่งตั้งอยู่ที่สามแยกใกล้โรงภาพยนต์พัฒนากร [เลิกไปแล้ว] นำชุดประกอบเครื่องบิน เครื่องยนต์และอุปกรณ์จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย เด็กๆที่ไม่ค่อยมีเงินพอจะเล่นเครื่องบินชนิดที่ใช้เครื่องยนต์ก็ซื้อเครื่องบินใช้ยางมาเล่นซึ่งก็มีให้เลือกอยู่ 2-3 แบบ ส่วนใหญ่เครื่องบินเหล่านี้จะมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นบริษัทกิลโลว์ [Guillow’s] หรือเทสเตอร์ [ Testor’s] เป็นต้นและจนถึงเดี๋ยวนี้เครื่องบินที่มีจำหน่ายเมื่อ 45 ปีมาแล้วก็ยังมีการผลิตขายอยู่ ผมเองก็ซื้อเครื่องบินพวกนี้มาเล่นและอาศัยที่สนใจด้านภาษาอังกฤษด้วยก็หาซื้อหนังสือ Model Airplanes News จากซุ้มหนังสือมือสองที่สนามหลวงมาอ่านแล้วก็ลองดัดแปลงเอาชุดใบพัดที่มีอยู่มาทำเป็นเครื่องบินตามแบบในหนังสือดู ส่วนใหญ่เครื่องบินที่ทำก็บินได้ไม่กี่วินาทีแต่ก็ไม่ได้สนใจที่จะให้มันบินได้นานๆ แค่ทำเสร็จเห็นว่าบินได้ก็พอใจแล้ว ความสนใจในเครื่องบินประเภทบินในร่มเกิดจากที่เห็นแบบในหนังสือ M.A.N. เล่มหนึ่งมีเครื่องบินชนิด Indoor ชื่อแบบ Parlor Miteเหมาะสำหรับผู้เริ่มทำ มีกางปีกประมาณ 10 นิ้ว โครงสร้างทั้งหมดทำด้วยไม้บัลซ่าขนาด 1/32 x 1/32 นิ้ว ยกเว้นลำตัวเป็นไม้ 1/16 x 1/8นิ้ว ผมเลยลองทำดู ปรากฎว่าบินได้ดีและนานกว่าเครื่องบินแบบก่อนๆที่เคยทำมามาก เนื่องจากความเบา ใช้ยางรัดของต่อกัน 2 เส้นเป็นกำลังในการขับเคลื่อน บินในห้องกว้าง 3 x 3 เมตรได้อย่างสบาย ลักษณะการบินไปอย่างช้าๆ คนเดินยังเร็วกว่า ผิดกับการบินของเครื่องบินแบบอื่นๆที่เคยทำจึงทำให้เกิดความประทับใจในเครื่องบินประเภทนี้ขึ้นมา หลังจากเรียนจบและเริ่มทำงานมีรายได้เป็นของตัวเองก็หันไปสนใจเครื่องบินพลาสติคจำลอง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 400 กว่าลำ แต่ถ้าจะนับที่เคยประกอบแล้วให้คนอื่นไปหรือพังไปบ้างก็น่าจะเกิน 700 ลำ รูปเครื่องบินพลาสติคจำลอง ![]() ![]() ชุดเครื่องบินจำลองที่ยังไม่ได้ประกอบ ![]() ขวดสีที่ใช้ทาหรือพ่นเครื่องบินพลาสติค ![]() ในส่วนของเครื่องบินใช้ยางก็ซื้อมาบ้างเมื่อมีโอกาศไปต่างประเทศ แต่ก็เหมือนเดิมคือทำเสร็จแล้วลองบินดูไม่กี่ครั้งแล้วเก็บใว้ในกล่อง อีกอย่างก็คือไม่มีคนอื่นๆที่สนใจในเรื่องนี้ที่จะช่วยกันกระตุ้นให้พัฒนาการบินให้นานขึ้น แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ ใช้งานผ่านอินเตอร์เนต เห็นมีร้านขายอุปกรณ์เครื่องบินใช้ยางในต่างประเทศซึ่งสามารถสั่งของเข้ามาโดยไม่ยุ่งยากจึงได้สั่งไม้บัลซ่าและอุปกรณ์ต่างๆรวมถึงหนังสือเกี่ยวกับเครื่องบิน Peanut และ Pistachioเข้ามา หนังสือและกล่องเครื่องบินใช้ยางที่สั่งซื้อมา ![]() ส่วนแบบแปลนก็มีให้ down load จาก Internet มากมายแต่ก็ยังสั่งซื้อแบบแปลนมาด้วยซึ่งรวมกันแล้วมีเกือบ 100 แบบและอีกอย่างคือที่ทำงานมีโรงยิมขนาดเท่าสนามบาสเกตบอลล์อยู่ เหมาะสำหรับเล่นเครื่องบินประเภท Indoor ขนาดเล็กเช่น Peanut Scale อันจำลองมาจากเครื่องบินจริง และคราวนี้ตั้งใจที่จะสร้างและทดลองเพื่อให้เครื่องบินที่ทำขึ้นมาบินได้นานๆแบบที่คนอื่นๆเขาทำกัน นอกจากนั้นยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ที่ชอบเครื่องบินแบบเดียวกันในต่างประเทศ [แบบแปลนของเครื่อง Parlor Mite ที่เคยทำเมื่อ 40 ปีก่อนก็ได้รับมาโดยความอนุเคราะห์จากวิธีนี้เช่นกัน ![]() รูปเครื่อง Parlor Mite เครื่องบินที่กลับมาทำจึงได้รับการปรับแต่งอย่างถูกวิธีและสามารถบินได้ดีอย่างที่ได้หวังไว้ พอลองนึกย้อนกลับไปว่าเหตุใดเครื่องบินที่ทำครั้งก่อนจึงบินได้ไม่ดีก็พอจะบอกได้ว่าเนื่องจากแต่ก่อนเชื่อว่าเครื่องบินจะต้องเบาทำให้ไม่อยากถ่วงน้ำหนักเพิ่มขึ้นที่ด้านหัวทั้งที่ยังไม่ได้ศูนย์ถ่วงที่ถูกต้อง เพราะมั่นใจว่าได้ทำตามแบบทุกอย่างแล้ว ดังนั้นข้อสำคัญที่สุดที่ต้องจำใว้คือเครื่องบินต้องมีการถ่วงน้ำหนักเพื่อให้ได้จุดศูนย์ถ่วงตามกำหนดก่อน มิเช่นนั้นก็เป็นการยากหรืออาจทำไม่ได้เลยที่จะให้เครื่องบินนั้นบินได้ดี จากประสบการณ์ที่ได้รับจึงอยากให้ผู้อื่นที่สนใจได้รับทราบด้วย ผมจึงได้ทำเว็บนี้ขึ้นมาโดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ด้านการค้า เพียงต้องการให้คนทั่วไปได้รู้ถึงงานอดิเรกที่น่าสนใจอีกประเภทหนึ่งที่ฝึกให้เราใจเย็นรู้จักสังเกตุ รู้จักการอ่านแบบแปลน รู้จักดัดแปลงเอาวัสดุต่างๆมาใช้งาน รู้การแก้ไขปัญหา รู้หลักการบินของเครื่องบินอย่างที่ผมได้รับมาแล้ว ทีนี้เมื่อทำเว็บขึ้นมาไม่นานก็มีผู้มาติดต่อเพื่อไปออกโทรทัศน์รายการ ชิงร้อยชิงล้าน ทางช่อง 5 ซึ่งในตอนบันทึกเทปใช้เวลาประมาณ 10 นาทีแต่ตอนเอามาออกอากาศจริงๆ เหลือสัก 2 นาทีกระมัง หลังจากออกอากาศไปก็มีผู้สนใจติดต่อเข้ามามาก ส่วนใหญ่อยากจะซื้อเครื่องบินที่ทำเสร็จแล้วเอาไปเล่น แต่ผมอยากให้ทำเองจะได้รู้ว่าเครื่องบินเหล่านี้ต้องใช้ความเบามือในการจับต้อง หากซื้อเอาไปแล้วไม่รู้เรื่องก็จะพังเสียก่อนที่จะได้เล่น แต่ตอนหลังเห็นว่ามีเครื่องบินสำหรับผู้เริ่มทำที่มีโครงสร้างไม่บอบบางนักจึงได้สั่งเข้ามาโดยคิดราคาต้นทุนบวกค่าขนส่งและเผื่อสำหรับการเสียหายหรือสูญหายใว้บ้าง ซึ่งหากลองดูราคาเครื่อง Delta Dart ที่ขายในอเมริกาก็ราคาเครื่องละเกือบ 4 เหรียญ ในส่วนของชุดประกอบเครื่องบินประเภท Peanut ที่ขายอยู่ก็ชุดละ 10 เหรียญขึ้นไป ผมเลยจัดชุดอุปกรณ์เพื่อให้เอาไปทำเอง ข้อแตกต่างจากชุดประกอบที่เขาทำขายก็คือเขาซอยไม้เป็นขนาด 1/16 x 1/16, 1/16 x 1/8 และ ตัดเอ็นปีกใว้ให้ นอกนั้นก็ต้องมาตัดเอาเองเหมือนกันซึ่งการตัดและซอยไม้ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรมากนัก เพียงแต่ขอให้ค่อยๆทำไปโดยไม่รีบร้อนเท่านั้นเอง ผู้ที่มัวแต่คิดว่ายากโดยแค่มองแล้วไม่ยอมลงมือหัดทำก็คงต้องพูดว่ายากต่อไปก็แล้วกัน เพราะของหลายๆอย่างต้องเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ แต่ผู้คนเดี๋ยวนี้ถนัดที่จะควักเงินซื้อมากกว่าซึ่งในเรื่องเครื่องบินใช้ยางนี้ถ้าอยากซื้อแบบบินในร่มที่ทำสำเร็จพร้อมบินกางปีกประมาณ 8 นิ้วก็ต้องสั่งจากต่างประเทศ ราคาไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท[แบบ Butterfly ของบริษัท Ikara] แต่ผู้ใดสนใจลงมือสร้างเองจากข้อมูลในเว็บก็จะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 30 บาทเท่านั้น และหากทำไปแล้วมีปัญหาก็ถามมาได้ทั้งทาง E-mail และทางโทรศัพท์ ผมยินดีที่จะตอบทุกคนครับ รูปเครื่องบินที่ทำเสร็จแล้ว ![]() รูปเครื่อง Volksplane VP-1 ![]() รูปเครื่อง Canard ใบพัดอยู่ด้านหลัง ![]() รูปเครื่อง Bebe Jodel ![]() รูปเครื่อง DeHavilland DH-6 ![]() รูปเครื่อง Farman 400 ![]() รูปเครื่อง Piper PA-15 Vagabond ![]() รูปเครื่อง Lacey M-10 |