ที่ผมมาเขียนเรื่องนี้ก็เนื่องจากเห็นมีการเปิดการอบรมเรื่องเครื่องบินพลังยางประเภท  Advanced และ F1d กันหลายที่ จึงอยากจะฝากไปยังผู้ทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน ว่าจะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนกับผู้ที่มาเรียนรู้ ถ้าผู้เรียนหรือศิษย์เข้าใจผิด เขียนผิด เรียกผิดก็ต้องทำการแก้ไขไม่ปล่อยให้ผ่านๆไป ตัวอย่างถ้าเขาเรียกเครื่องบินพลังยางว่าเป็นเครื่องร่อนพลังยางก็ต้องชี้แจงว่าที่ถูกต้องคืออะไรและเพราะอะไรถึงต้องเรียกเป็นเครื่องบินพลังยาง ต้องชี้แจงความแตกต่างระหว่างเครื่องบินกับเครื่องร่อน ถ้าเขาเรียกแพนหางระดับว่าปีกเล็กหรือปีกหลัง ก็ต้องอธิบายให้รู้ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นต้องใช้ศัพท์ต่างๆให้ถูกต้องด้วย เช่น

มุมกดของใบพัดนั้นเขาเรียกว่า ดาวน์ทรัสต์ (down thrust) ไม่ใช่ ’ดาวทัช’หรือที่แย่กว่านั้นก็เรียกว่า ‘ดาวทัด’ซึ่งเคยเห็นมีคนเขียนอย่างนี้จริงๆ  เพราะ Thrust คือแรงฉุดอันเกิดจากใบพัด แต่เครื่องบินพลังยางจะต้องให้แรงฉุดนี้กดลงเล็กน้อย (down) ไม่อย่างนั้นเครื่องบินก็จะเชิดหัวขึ้นมากเกินไป

มุมที่เราเรียกกันว่ามุมปะทะ (Angle of Attack) นั้นจริงๆไม่ถูกต้อง เพราะโดยคำจำกัดความ มุมปะทะคือมุมที่ปีกทำกับอากาศหรือลมที่พัดเข้ามา (Angle of attack –  the angle between the oncoming air or relative wind and a reference line on the airplane or wing) มุมปะทะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับท่าทางของเครื่องบิน เวลาเครื่องบินเชิดหัวขึ้น มุมปะทะจะเป็นบวก จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่ว่าหัวเชิดขึ้นแค่ไหน เวลาเครื่องกดหัวลงมุมปะทะจะเป็นลบ

ดังนั้นที่เราเรียกกันว่ามุมปะทะ แท้จริงมันคือมุมตั้งปีก (Angle of Incidence หรือเรียกย่อๆว่า Incidence) คำจำกัดความคือ มุมระหว่างชยาปีกที่ติดตั้งบนลำตัวและแกนอ้างอิงของลำตัว (Angle of Incidence – the angle between the chord line of the wing where the wing is mounted to the fuselage, and a reference axis along the fuselage) ซึ่งมุมนี้จะคงที่ไม่ว่าท่าทางการบินจะเป็นอย่างไร จะเชิดหัวขึ้นหรือทิ่มหัวลง มุมนี้ก็จะเท่าเดิม

ดูข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.youtube.com/watch?v=AUmL8mIUxyc

พิทช์ (pitch) ของใบพัดจะมีหน่วยเป็นระยะทางไม่ใช่เป็นองศา เพราะพิทช์หมายถึงระยะทางที่ใบพัดเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเมื่อหมุนครบหนึ่งรอบ (Pitch – the distance a propeller would move in one revolution if it were moving through a soft solid, like a screw through wood) ดังนั้นใบพัดที่บอกว่า พิทช์ 18 ก็หมายถึงว่าใบพัดนี้จะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ 18 นิ้วในหนึ่งรอบ การเคลื่อนที่นั้นจะมากหรือน้อยก็จะขึ้นอยู่กับมุมของใบพัดอีกทีหนึ่ง ถ้ามุมสูงมันก็จะเคลื่อนที่ไปได้มากกว่า เครื่องบินประเภท F1d นี้จะใช้พิทช์ระหว่าง 34-42 อย่าลืมว่านี่ไม่ใช่องศาของใบพัดนะ

ผู้ที่สนใจเข้าไปหาดูข้อมูลเครื่องบินพวกนี้ บางครั้งก็จะเห็นคำว่า P/D หรือ P/D ratio ซึ่ง D หมายถึง Diameter หรือเส้นผ่าศูนย์กลางของใบพัด ดังนั้นตัวเลขที่เห็นเช่น 1.4 ก็คืออัตราส่วนระหว่างพิทช์กับขนาดของใบพัด ถ้าใบพัดมีขนาด 20 นิ้ว พิทช์ก็จะเท่ากับ 20 x 1.4 หรือ 28 นิ้ว ค่า P/D นี้สำหรับ F1d แล้วปกติจะไม่เกิน 2

บทความนี้ตั้งใจสำหรับผู้ที่จะไปสอนเขา ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง อย่าลืมว่าเราสอนอะไรไปเราก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองสอน อย่าให้ลูกศิษย์มาต่อว่าเอาทีหลังได้ครับ