ใบพัดที่ใช้ๆกันอยู่ส่วนมากก็จะซื้อเอาเพราะความสะดวกและเป็นมาตรฐานเดียวกัน อีกอย่างก็คือถ้าไม่ซื้อแล้วจะเอามาจากไหนกัน อันที่จริงเราสามารถทำเองได้ครับ ถ้าเป็นเครื่องบินในร่มแบบเบามากๆ ใบพัดก็ต้องเบาตามดังนั้นก็จะใช้วิธีตัดไม้บัลซ่าบางๆ เป็นรูปกลีบใบพัดมาแช่น้ำให้อ่อนตัวแล้วมาทาบกับขวดหรือกระป๋องรัดด้วยแถบผ้าหรือยางรัดของทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก็จะได้ใบพัดมาใช้ แต่เครื่องบินประเภทที่ใช้แข่งในรายการของ สพฐ.นั้น ใช้แบบนั้นไม่ได้เพราะจะบอบบางเกินไปซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาโดยเราก็ต้องใช้วิธีเหลาเอาครับ ถ้าเราจะทำใบพัดขนาด 7 นิ้ว ก่อนอื่นก็ต้องหาไม้ที่มีความหนาเท่าขนาดใบพัดที่ต้องการมา เช่นหนาประมาณ 5/8 ถึง ¾ นิ้วหรือ 7.5-9 มม. ถ้าไม่มีไม้หนาขนาดนั้น เราก็ใช้ไม้ที่มีอยู่มาทากาวซ้อนกันเข้าไปแต่ก่อนทากาวก็เจาะรูแกนใบพัดเสียก่อน จากนั้นก็ต้องรอให้กาวแห้งสนิทจริงๆถึงค่อยลงมือทำต่อ จากในรูปจะเห็นมีการซ้อนแบบเอียงๆไปหน่อยซึ่งจะช่วยประหยัดไม้ไปได้บ้างที่จริงไม่ต้องทำก็ได้ ขั้นตอนต่อไปก็แต่งตรงใกล้ๆรูแกนให้เว้าเข้าไป ดูว่าพอได้แล้วทีนี้ก็ลงมือเหลา แนะนำให้ทำด้านหลังของใบพัดก่อน พอเหลาได้ใกล้เคียงทีนี้ก็ใช้กระดาษทรายขัดเอาให้เว้าเข้าไปเล็กน้อยก่อน จากนั้นถึงเหลาด้านหน้าของใบพัด การเหลาควรเหลาสลับกันไปซ้ายบ้างขวาบ้างเพื่อเป็นการตรวจสอบว่าไม่ได้เหลาด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป พอเกือบๆได้รูปร่างที่ต้องการก็เปลี่ยนมาใช้กระดาษทรายขัดต่อ แต่งรูปแบบใบพัดให้มนโค้งตามต้องการ การเหลาใบพัดนี้ถ้าไม่รวมระยะเวลาที่รอให้กาวแห้งก็จะใช้เวลารวมแล้วประมาณหนึ่งชั่วโมงเท่านั้นเองและไม่จำเป็นจะต้องเหลาทีเดียวให้เสร็จ ตรงรูแกนใบพัดก็ตัดท่ออลูมิเนียมใส่เข้าไปเสียหน่อยเพื่อใบพัดจะได้หมุนคล่องดี ผลงานที่ออกมานั้นคือได้ใบพัดที่เบากว่าใบพัดพลาสติกเยอะ เช่นใบพัดญี่ปุ่นขนาดเดียวกันหนักเกือบๆ 4 กรัม แต่ใบพัดไม้บัลซ่าที่เห็นหนักไม่ถึง 2 กรัมครับ ![]() ![]() ขอเพิ่มเติมครับคือมีหลายๆคนติดต่อขอซื้อใบพัดพลาสติกมาในช่วงที่ใบพัดขาดตลาด ผมแนะนำให้ลองเหลาใบพัดเอาเองก็ได้รับคำตอบว่ามันจะไม่ทันเพราะมีเวลาเพียงสามชั่วโมงในการสร้าง ผมว่าเข้าใจอะไรผิดกันหรือเปล่า ทำไมต้องไปเหลาเอาในวันแข่งล่ะครับ ก็ทำเตรียมไว้ก่อนเลยแล้วก็เอาไปติดตั้งเหมือนกับใบพัดพลาสติกนั่นแหละ |