เครื่องบินที่สร้างเสร็จแล้วนั้นมีน้อยมากที่จะเอาไปบินโดยไม่ต้องปรับแต่งอีก แม้จะได้สร้างตรงตามแบบทุกประการ ทั้งนี้เพราะจะมีความแตกต่างกันจากวัสดุที่ใช้ในเครื่องบินแต่ละเครื่อง แม้คนทำจะเป็นคนเดียวกันก็ตาม การปรับแต่งที่จะพูดถึงนี้จะเกี่ยวกับเครื่องบินในร่มโดยเฉพาะซึ่งเครื่องบินนี้จะใช้กำลังจากยางในการบินตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีเรื่องของลมเข้ามาเกี่ยวข้อง
สิ่งแรกสุดที่ต้องทำคือเมื่อติดใบพัดและยางเรียบร้อยแล้วต้องตรวจสอบจุดศูนย์ถ่วงให้ได้ตามกำหนด หากในแบบไม่บอกใว้ก็ใช้วิธีกะให้อยู่ประมาณ หนึ่งในสามของชะยาปีกโดยวัดจากชายหน้า มีหลายๆคนไม่อยากจะถ่วงน้ำหนักเพิ่มเพราะเกรงว่าจะทำให้เครื่องบินหนักเกินไป แต่ขอยืนยันว่าหากจุดศูนย์ถ่วงไม่ได้แล้วการปรับแต่งให้เครื่องบินบินได้ดีนั้นทำได้ยาก
ต่อมาก็ต้องตรวจว่าการติดตั้งชิ้นส่วนถูกต้อง มุมยกต่างๆเป็นไปตามที่กำหนดในแบบ โครงสร้างไม่บิดเบี้ยว หากมีก็ต้องแก้ไขเสีย ทีนี้ก็ทดลองร่อนดู โดยใช้มือพุ่งเครื่องบินเบาๆไปที่จุดเล็งบนพื้นข้างหน้าของจุดที่ยืนอยู่ประมาณสี่ห้าเมตร หลายคนทดสอบการร่อนโดยพุ่งไปในแนวระดับขนานกับพื้นซึ่งไม่ถูกต้องครับ สังเกตุลักษณะการร่อนหากมีอาการหัวหนักคือตกลงพื้นเร็วก็ต้องดัดแพนหางระดับด้านหลังขึ้นแล้วทดลองใหม่ แต่หากเครื่องบินเกิดอาการหัวเบาคือเชิดหัวขึ้นก่อนปักลงก็ต้องปรับแพนหางระดับด้านหลังลงเล็กน้อย ปรับจนการร่อนเป็นที่พอใจ ในการทดลองนี้ต้องเลือกเวลาที่ไม่มีลมเพื่อจะได้สังเกตุอาการได้ชัดเจน นอกจากนั้นการปรับต้องทำทีละน้อย
ต่อไปก็จะเป็นการปรับการบินด้วยกำลังจากยาง โดยตรวจสลักหัว [Nose block] ที่ถอดได้ว่ามีความพอดีไม่หลุดหรือเลื่อนไปมาได้ แกนใบพัดมี Down thrust ตามที่กำหนดเพราะหากไม่มีแล้วกำลังจากยางจะฉุดให้เครื่องบินทำการไต่เร็วเกินไปจนอาจเป็นวงกลมด้านตั้งแล้วตกได้ ลองหมุนยางประมาณ 50-80 รอบแล้วทดลองดู การปล่อยเครื่องบินจะใช้วิธีพุ่งเบาๆไม่ใช่ขว้างออกไป
สังเกตุการบินและการหมุนของใบพัด หากเครื่องบินบินไปช้ามากเหมือนแรงไม่พอ ลองดูว่ามีอะไรทำให้ใบพัดหมุนไม่คล่องเช่นปมยางขัดกับชิ้นส่วนอื่นๆ แกนใบพัดฝืดหรือไม่ หากการหมุนปกติลองหมุนรอบเพิ่มขึ้น หากยังไม่ไปอีกก็แสดงว่ายางที่ใช้มีกำลังน้อยไป แต่ในทางตรงข้ามคือเครื่องบินบินเร็วมาก ใบพัดหมุนได้นิดเดียวก็หมดแล้ว แสดงว่ายางที่ใช้แรงมากไป ใช้วิธีลดขนาดของยางหรือเพิ่มความยาวของยางแล้วทดลองใหม่
ในการบินด้วยแรงยางนี้การปรับแต่งจะทำด้วยการปรับแรงฉุดที่สลักหัวเช่นเพิ่มหรือลด Down thrust ด้วยการใช้ไม้บางๆเสริมด้านบนหรือล่างของสลักหัว และปรับวงในการเลี้ยวโดยการลดหรือเพิ่มแรงฉุดด้านข้าง [Left หรือ Right thrust] โดยใช้ไม้เสริมด้านข้างของสลักหัวทำนองเดียวกับการปรับ Down thrust นั่นเอง
สำหรับเครื่องบินในร่มแบบเบามากๆเช่นพวก Parlor plane หรือ Micro Rat ซึ่งไม่มีสลักหัวนั้น จะใช้การปรับเลื่อนความสูงของเสารับปีกแทน เช่นเครื่องบินบินไปข้างหน้าได้แต่ไม่ยอมไต่ก็ปรับเสารับปีกให้สูงขึ้นเป็นการเพิ่มมุมปะทะของปีก แต่หากไต่เร็วไปจนเกิดอาการสตอลล์ก็ลดมุมปะทะลงเล็กน้อย ส่วนการปรับความกว้างของวงเลี้ยวก็ปรับที่แพนหางดิ่งหรือที่ท่อนหางก็ได้
หลักการที่ใช้มีง่ายๆคือ 1. ใส่ยางแล้วปรับจุดศูนย์ถ่วงให้ได้ตามแบบ 2.ทดสอบด้วยการร่อนโดยเล็งไปที่พื้น ไม่ใช่พุ่งไปในแนวระดับ แก้ไขอาการด้วยการปรับแพนหางระดับ 3.ทดสอบด้วยการหมุนยางรอบต่ำๆก่อน 4.แก้ไขการเลี้ยวด้วยการปรับด้วยแพนหางดิ่ง 5.ถ้าร่อนได้ดีแล้ว มันก็บินได้ทุกเครื่อง 6.ปรับแก้ไขทีละอย่าง ไม่ใช่แก้ทั้งมุมยกปีก ปรับแพนหางระดับพร้อมแพนหางดิ่ง 7.ทำบันทึกการแก้ไขว่าทำอย่างไรไปบ้าง ทำอย่างนี้จะได้ผลอะไร เพื่อเก็บไว้เป็นประสบการณ์ใช้ในคราวต่อไป |
มีคำถามมาจากผู้เริ่มทำว่าทำไมเครื่องบินไม่ยอมเลี้ยว เรื่องนี้ก็คงต้องหาวิธีที่จะให้เครื่องมันเลี้ยวให้ได้ ไม่เช่นนั้นมันก็คงจะบินชนข้างฝาจนพัง
การจะให้เลี้ยวนั้นก็ต้องเข้าใจหลักการของการใช้ยางที่ว่าหากใบพัดหมุนไปด้านหนึ่งมันก็จะเกิดแรงบิดขึ้นในด้านตรงข้าม เครื่องบินพลังยางถ้ามองจากด้านหลังจะเห็นว่าใบพัดหมุนตามเข็มนาฬิกา แรงบิดด้านตรงข้ามก็จะทำให้เครื่องบินเอียงไปทางซ้ายซึ่งเครื่องบินในร่มจะใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้คือปรับให้เครื่องบินเลี้ยวซ้ายและยังเพิ่มความยาวของปีกด้านซ้ายให้ยาวกว่าด้านขวาเพื่อเป็นการพยุงปีกให้อยู่ในแนวระดับเพราะปีกที่ยาวกว่าก็ย่อมมีแรงยกมากกว่า การปรับเลี้ยวอีกวิธีคือยกปลายแพนหางระดับขึ้นเช่นถ้าด้านซ้ายสูงกว่ามันจะทำให้เครื่องบินเลี้ยวซ้าย
สำหรับเครื่องบินที่เอามาแข่งในรายการ สพฐ. เราก็สามารถปรับให้เลี้ยวไปในทิศทางที่เราต้องการโดยติดแผ่นปรับเข้าไปที่แพนหางดิ่ง ถ้าบิดปลายสุดไปทางไหน เครื่องบินก็จะเลี้ยวไปทางนั้น
นอกจากนั้นก็อาจใช้แผ่นต้านอากาศเข้าไปให้ตั้งฉากกับทิศทางบิน แผ่นนี้จะต้านอากาศทำให้เครื่องบินเลี้ยวไปทางทิศที่เราติดแผ่นนี้ไว้
สำหรับการปรับเลี้ยวนั้นเราสามารถติดแผ่นใต้ปีกเข้าไปเพื่อเป็นการเพิ่มแรงยกและพยุงปีกให้สูงขึ้นได้หากเครื่องบินนั้นเลี้ยวแล้วปีกเอียงมากเกินไป