การปรับแต่งเครื่องบินแบบเดลต้า ดาร์ท Delta Dart
เครื่องเดลต้าดาร์ทนี้เป็นเครื่องบินใช้ยางแบบที่มีการสร้างขึ้นมามากที่สุดในโลก แต่แรกเริ่มนั้นได้มีการลงแบบแปลนและวิธีสร้างเครื่องบิน Delta Dart ในนิตยสาร American Modeler เมื่อปี ค.ศ. 1967 [พ.ศ.2510] โดยผู้ออกแบบคือ แฟรงค์ เอห์ลิ่ง [Frank Ehling] ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว จากวัตถุประสงค์ที่จะให้เดลต้าดาร์ทเป็นเครื่องบินที่ง่ายในการสร้าง เหมาะสมที่จะเป็นเครื่องบินใช้ยางแบบเริ่มต้นสำหรับผู้สนใจ แบบที่ออกมาจึงทำให้เดลต้าดาร์ทเป็นเครื่องบินที่แข็งแรงและค่อนข้างหนัก ซึ่งเครื่องบินแบบนี้ทาง Easy airplanesได้สั่งเข้ามาจำนวน 35 ชุดและได้มีผู้ซื้อไปหมดแล้ว จึงอยากจะบอกวิธีที่จะดัดแปลงทั้งด้านโครงสร้างเพื่อลดน้ำหนักและการปรับแต่งเพื่อให้บินให้ดีขึ้นอีก
การลดน้ำหนัก
เครื่องบินที่เบานั้นจะบินได้นานกว่าเครื่องบินที่หนัก เนื่องจากไม่จำเป็นต้องบินเร็วเพื่อสร้างแรงยกให้พอกับน้ำหนักเครื่องซึ่งหมายถึงใบพัดหมุนช้าลงได้ ยางที่ใช้จึงหมุนอยู่นานกว่าเดิมเมื่อหมุนรอบยางเท่าๆกัน
การจะลดน้ำหนักทำได้ที่ชิ้นส่วนต่างๆเช่น
1 ตัดที่ส่วนล่างลำตัวระหว่างหลังที่ยึดใบพัดจนถึงลวดเกี่ยวยางหลังออกประมาณ 1/16 นิ้ว ซึ่งนอกจากลดน้ำหนักได้แล้วยังลดการขัดของปมยางกับลำตัวได้ด้วย [ ดูรูปประกอบ ]
2 ที่ใบพัดเราก็เอาใบมีดคัตเตอร์ขูดให้บางลงได้ แต่ต้องระวังอย่าขูดใบพัดข้างหนึ่งข้างใดมากไป ต้องรักษาสมดุลย์ของใบพัดด้วย
3 ไม้บัลซ่าที่ใช้ทำปีกและหางก็ลดขนาดเป็น 1/16 x 1/16 นิ้ว จากเดิมที่เป็นขนาด 1/16 x 1/8 นิ้ว เมื่อลดขนาดแล้วก็อาจจำเป็นต้องเสริมความแข็งแรงที่บางแห่งด้วย [ ดูรูปประกอบ ]
4 นอกจากนั้นก็ต้องเปลี่ยนจุดยึดบริเวณกลางปีกด้วย [ ดูรูปประกอบ]
5 วัสดุที่ใช้บุก็เปลี่ยนเป็นกระดาษบุเครื่องบินอย่างเบาแทนที่จะใช้แบบที่ให้มา
6 กระดาษที่ใช้ควรทำการ ขยำ ให้ยับแล้วจึงคลี่ออกมาบุชิ้นส่วนอีกที การทำเช่นนี้เพื่อให้กระดาษมีพื้นที่สำหรับขยายออกจะได้ไม่ดึงชิ้นส่วนให้บิดเบี้ยวภายหลัง การบุเช่นนี้อาจจะดูไม่สวยงามแต่กันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
7 ลดมุมยกปลายปีกจากในแบบเหลือข้างละ 1 1/2 นิ้วก็พอ
8 เปลี่ยนที่ยึดยางด้านท้ายจากเข็มหมุดเป็นลวดขนาดเล็กที่ดัดเป็นห่วงเพื่อให้ยึดยางได้ดีขึ้นและใช้ด้ายพันเสริมความแข็งแรงด้วย [ ดูรูปประกอบ]
9 ติดแผ่นปรับที่แพนหางและปีกเพื่อช่วยในการปรับทิศทางการบินได้ง่ายขึ้น [ ดูรูปประกอบ ]
จากการดัดแปลงดังกล่าวเราก็จะได้เครื่องบินแบบเดลต้า ดาร์ท ที่เบาลงจากเดิมเกือบครึ่งดังนั้นจึงทำให้สามารถใช้ยางที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเส้นเล็กลงได้ นอกจากนั้นในการประกอบปีกเข้ากับลำตัวหากเราหาจุดศูนย์ถ่วงให้ดีโดยไม่ต้องถ่วงน้ำหนักเพิ่มก็จะทำให้น้ำหนักรวมไม่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ข้อเสียของเครื่องบินที่ ‘โม’ แล้วก็คือความบอบบางกว่าเดิมดังนั้นจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการจับต้องมากขึ้นและบินในเวลาที่ไม่มีลมหรือบินเฉพาะในร่มเท่านั้น
การบิน
ยางที่ให้มากับเครื่องบินแบบเดลต้า ดาร์ท Delta Dart มีกำลังแรงเกินจำเป็นทั้งนี้เพื่อรับประกันได้ว่าบินขึ้นได้แน่ แต่ถ้าจะให้บินได้นานขึ้นก็ต้องเปลี่ยนไปใช้ยางที่ขนาดเล็กลงและมีความยาวขึ้นเพื่อให้หมุนได้ช้าลงและนานขึ้นกว่าเดิม เครื่องเดลต้าดาร์ทสามารถเอาไปบินได้ทั้งในร่มและบริเวณสนามภายนอก หากเป็นในร่มก็ต้องปรับให้บินเป็นวงกลมจะได้ไม่ชนผนัง การปรับทำได้โดยติดแผ่นปรับที่ทำจากกระดาษที่หนากว่ากระดาษที่ใช้พิมพ์ดีดเล็กน้อย ขนาดประมาณ 1/2 x 1 1/2 นิ้ว ติดที่แพนหางดิ่งแล้วดัดให้เอียงไปในทิศทางที่ต้องการ
ที่หมุนยาง
เมื่อได้เพิ่มความยาวของยางเพื่อให้หมุนยางได้รอบมากๆ การที่จะใช้มือหมุนเอาก็ต้องใช้เวลานาน จึงควรหาที่หมุนยางมาใช้โดยอาจทำเอง เอาสว่านมือมาดัดแปลง หาอุปกรณ์ของนาฬิกาแบบไขลานมาดัดแปลงหรือซื้อเอาก็ตามใจ วิธีหมุนก็ต้องหาผู้ช่วยจับที่ส่วนหัวแล้วใช้ขอเกี่ยวคล้องยางส่วนท้าย หมุนตามเข็มนาฬิกาจนได้รอบที่ต้องการแล้วจึงถอดยางออกจากที่หมุนมาเกี่ยวที่ขอเกี่ยวยางที่ลำตัว [ ดูรูปประกอบ ]
ข้อที่ต้องระวังในการเล่นเครื่องบินเล็กก็คือความปลอดภัยที่ต้องมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ การปล่อยเครื่องบินต้องระวังไม่ให้ไปถูกหรือชนคนอื่น หากเครื่องบินขึ้นไปค้างบนที่สูงก็อย่าเสี่ยงอันตรายปีนขึ้นไปเก็บ จำใว้เสมอว่าชีวิตเราสำคัญกว่าเครื่องบินไม่ว่าเครื่องบินนั้นจะราคาแพงแค่ใหนก็ตาม