กระดาษที่จะเอามาบุเครื่องบินนี้จะเป็นกระดาษชนิดเบาเช่นกระดาษอีซากิหรือชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง กระดาษชนิดที่ว่ามันจะมี “ทาง”หรือ grain คล้ายกับลายไม้ ถ้าตัดตามลายมันจะตัดได้ง่าย แต่ถ้าตัดขวางลายมันก็จะตัดยากกว่า สำหรับกระดาษเราจะใช้วิธีฉีกดู ถ้าเป็นตามลาย มันก็จะฉีกยาวเป็นเส้นได้ง่าย แต่ถ้าเกิดขวางลายมันก็จะเป็นเส้นที่ค่อนข้างจะแยกไปแยกมาไม่เป็นเส้นตรง เราจะพยายามบุให้ลายของกระดาษนี้ยาวไปตามโครงสร้างส่วนยาวทั้งนี้เพราะกระดาษหดตัวมันก็จะดึงโครงสร้างให้งอบ้างแต่ไม่ถึงกับบิดเบี้ยว
เวลาจะบุก็ต้องตัดกระดาษให้กว้างกว่าพื้นที่ที่เราจะบุโดยรอบสักเล็กน้อย ขัดบริเวณที่จะบุให้เรียบด้วยกระดาษทรายละเอียด จากนั้นใช้กาวแท่งทาโดยรอบตามขอบของพื้นที่ รอให้กาวแห้งสนิทดีแล้วจึงวางกระดาษลงไปขยับกระดาษให้ตรงตามที่เราต้องการจากนั้นใช้แปรงจุ่มแอลกอฮอล์ทาลงไป กาวก็จะละลายออกมาติดกับกระดาษ ในตอนนี้ไม่จำเป็นต้องดึงกระดาษให้ตึง รอให้กาวแห้งอีกครั้งจากนั้นหากต้องการความตึงเราก็สามารถใช้แอลกอฮอล์พ่นหรือทาให้ทั่ว กระดาษก็จะตึงตัวขึ้นมา เมื่อกาวแห้งสนิทดีแล้วเราก็ต้องตัดแต่งกระดาษส่วนเกินโดยใช้มีดที่คมๆตัดออกหรือใช้กระดาษทรายละเอียดลูบเบาๆตามขอบ กระดาษก็จะขาดออกมาเอง
เครื่องบินชนิดในร่มที่โครงสร้างบอบบาง เราไม่ต้องการให้กระดาษตึงเพราะมันจะไปบิดโครงสร้างให้เสียรูปได้ เราสามารถรีดกระดาษให้เรียบด้วยเตารีดที่ใช้ไฟปานกลางก่อนนำมาบุหากเห็นว่ากระดาษนั้นยับย่นมากเกินไป
เวลาที่จะบุกระดาษนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างคืออุณหภูมิและความชื้น เพราะกระดาษนี้พออากาศร้อนขึ้นมันก็จะตึงขึ้นกว่าเดิม หากเราไม่ได้ระวัง พออุณหภูมิสูงขึ้น ความชื้นลดลง กระดาษที่ตึงขึ้นก็จะทำให้โครงสร้างเสียรูปได้
เครื่องบินประเภทสเกลที่ต้องการความเรียบของกระดาษโดยไม่ต้องการจะเสี่ยงกับการบิดเบี้ยวของโครงสร้าง เขาจะเอากระดาษมาติดเข้ากับโครงไม้(frame)ที่แข็งแรงหน่อยแล้วพ่นน้ำเพื่อให้กระดาษตึงขึ้นเมื่อตอนที่มันแห้งแล้ว เขาจะทำเช่นนี้สองสามครั้งเพื่อให้มั่นใจว่ากระดาษจะไม่หดตัวอีกแล้วก่อนจะนำมาบุ กรรมวิธีเช่นนี้เรียกกันว่าการ Pre-shrink คือให้กระดาษหดตัวไปล่วงหน้าเสียก่อนที่จะนำมาใช้ กระดาษที่ทำเช่นนี้เขาเรียกว่า Pre-shrunk tissue