การแข่งขันที่ สพฐ.จัดขึ้นในปีนี้เป็นปีแรกนั้นทำให้เกิดความสนใจในการประดิษฐ์เครื่องบินเล็กไม่ว่าจะเป็นเครื่องร่อนหรือเครื่องบินพลังยาง นับเป็นการส่งเสริมให้เกิดความสนใจในกิจการบินและใช้เวลาว่างในทางที่ดี ผมเองก็ช่วยสนับสนุนในเรื่องที่พอจะมีความรู้อยู่บ้างโดยไม่เคยได้ไปเข้าร่วมกิจกรรม ได้แต่ติดตามทางเว็บบอร์ดและจากการเล่าสู่กันฟังจากผู้ที่รู้จักคุ้นเคย
มีประเด็นหนึ่งที่คิดว่าน่าจะมีการปรับปรุงคือเรื่องของกติกาซึ่งกรรมการแต่ละที่ตีความหมายไม่เหมือนกันอันอาจก่อให้เกิดความไม่โปร่งใสในการแข่งได้ เพราะเท่าที่ผมอ่านกติกานั้นกำหนดเรื่องขนาดไว้ว่ากางปีกไม่เกิน 20 นิ้ว ถ้าเป็นเครื่องบินพลังยางก็ต้องใช้ใบพัดขนาดไม่เกิน 8 นิ้ว นอกนั้นก็มีเรื่องเครื่องร่อนบินไกลที่จะต้องพุ่งผ่านห่วงซึ่งกำหนดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไว้ กติกาก็ว่าไว้กว้างๆแค่นี้ แต่ก็มีการไปกำหนดว่าปีกต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 16 หรือ 17 นิ้ว ในส่วนของใบพัดก็มีการห้ามใช้ใบพัดสำเร็จรูป การพุ่งเครื่องร่อนบินไกลห้ามใช้แรงพุ่งให้ใช้แค่สบัดข้อมือ ซึ่งในกติกาเดิมนั้นไม่ได้พูดถึง ก็เข้าใจว่ากรรมการต้องมีการปรับแก้ไขตามสถานการณ์ แต่เรื่องนี้สมควรที่จะต้องหาหลักเกณฑ์เพื่อให้ได้กติกาที่กรรมการทุกคนจะได้ยึดถือเช่นเดียวกันจะได้ไม่เกิดความสับสนหรือความสงสัยต่อผู้เข้าแข่งขันโดยเฉพาะเรื่องการจับเวลา กรรมการบางท่านจับเวลาตอนบินแต่พอไปชนฝาผนังหรือสิ่งกีดขวางถือว่าสิ้นสุดเวลาบินฯ สำหรับในต่างประเทศที่เขาจัดแข่งขันกันมานาน มีการกำหนดขนาดและน้ำหนักไว้ชัดเจน ซึ่งอาจเอามาปรับใช้ให้เหมาะกับการแข่งขันของเราต่อไปเช่นในเรื่องของขนาดกางปีกเขาจะระบุว่าเป็นกางปีกเมื่อมองลงไปตรงๆไม่ใช่ขนาดตอนที่เอาไม้มาเรียงกันก่อนที่จะทำมุมยก บางที่เขาจะทำเป็นกล่องที่มีขนาดตามกติกาแล้วเอาเครื่องที่ส่งเข้าแข่งขันวางลงไปถ้าลงไม่ได้ก็แสดงว่าปีกกว้างเกินกำหนด นอกจากนั้นเขาจะกำหนดน้ำหนักและพื้นที่ปีกไว้เพื่อไม่ให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันมากเช่นน้ำหนักต้องไม่ต่ำกว่าที่กำหนด พื้นที่ปีกต้องไม่เกินเท่าไหร่เป็นต้น การจับเวลาก็ระบุชัดเจนว่าจะนับเวลาจนสิ้นสุดสภาพการบินคือถ้าชนฝาผนังหรือกระแทกพื้นแล้วยังบินต่อไปได้ก็จับเวลาต่อไป เป็นต้น การแข่งขันของนักเรียนระดับมัธยมในสหรัฐอเมริกาเขาจะให้ใช้ใบพัดที่สามารถหาซื้อได้ในท้องตลาด ห้ามใช้ใบพัดที่ทำเอง และทีมที่เข้าแข่งขันสามารถสร้างเครื่องบินไว้ก่อนและทำการทดลองปรับแต่งไว้ล่วงหน้าเพราะเขาต้องการให้มีการใช้ความสามารถในการปรับแต่งเพื่อให้บินได้นานที่สุดซึ่งผิดกับของเราที่จะต้องมาสร้างเครื่องบินใหม่ทุกครั้งในเวลาที่กำหนดจึงไม่มีเครื่องบินที่ได้ทำการทดลองว่าบินดีแล้วมาแข่งขัน
ที่เขียนมานี้ก็ไม่ได้ว่าของเราไม่ดี เพียงแต่ต้องมีการปรับแก้ไขในเรื่องของกติกาให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและเพื่อสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา